ต้องการความช่วยเหลือ ค้นหาได้เลย

19 วิตามิน แร่ธาตุที่ช่วยให้อายุยืนยาว
19 วิตามิน แร่ธาตุที่ช่วยให้อายุยืนยาว

19 วิตามิน แร่ธาตุที่ช่วยให้อายุยืนยาว

 
  • ไมโครนิวเทรียนท์ คือ วิตามินและแร่ธาตุบางชนิด ที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงานและร่างกายต้องการในปริมาณที่น้อยแต่ก็ขาดไม่ได้ มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ สามารถพบได้ในอาหารที่รับประทานทุกวัน
  • อาการผิดปกติของร่างกาย ที่อาจบ่งบอกถึงภาวะขาดสารอาหาร เช่น เหนื่อยล้า เป็นแผลหรือเลือดออกง่าย เจ็บตามข้อ มีอาการชาบริเวณมือหรือเท้า ภาวะซีด ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ มวลกระดูกต่ำ การผลิตคอลลาเจนลดลง ผมแห้ง เล็บเปราะ แตกหักง่าย
  • ก่อนที่จะซื้อวิตามินหรืออาหารเสริมมารับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาระดับวิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ประเมินภาวะทางโภชนาการและพฤติกรรมการรับประทานอาหารของแต่ละบุคคล สำหรับวางแผนดูแลสุขภาพที่ถูกต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
 GettyImages-1051616796-(1).jpg

การมีอายุที่ยืนยาวและมีสุขภาพที่ดี เป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนคงจะปรารถนา ซึ่งการจะมีอายุยืนยาวโดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น นอกจากการดูแลตัวเองโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลจิตใจให้ดี อารมณ์ดี มองโลกในแง่บวก ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน กินอาหารให้ครบ กินผักให้หลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหารก่อโรค กินแค่พออิ่ม ไม่มากไม่น้อยเกินไป และที่สำคัญร่างกายต้องไม่ขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอสิระ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “ไมโครนิวเทรียนท์ (Micronutrient) หรือ สารอาหารรอง” ซึ่งมีความสำคัญมากในกระบวนการทำงานของร่างกาย ทั้งเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน เมตาบอลิซึม การทำงานของฮอร์โมน การซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์ หากขาดวิตามินหรือสารอาหารในระยะยาวจะส่งผลเสียให้ร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ เสี่ยงต่อการเกิดโรคและอาจทำให้เกิดภาวะแก่ก่อนวัยได้
 
ทำความรู้จักไมโครนิวเทรียนท์ (Micronutrient) หรือ สารอาหารรอง
ไมโครนิวเทรียนท์ คือ วิตามิน และแร่ธาตุบางชนิด ที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงานและร่างกายต้องการในปริมาณที่น้อยแต่ก็ขาดไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ทั้งด้านพัฒนาการของร่างกาย พลังงาน ระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงผิวหนัง กระดูก การย่อยอาหาร การผลิตฮอร์โมน และการทำงานของสมอง ช่วยเสริมสร้างสุขภาพพื้นฐานให้แข็งแรง

ร่างกายไม่สามารถผลิตสารอาหารรองขึ้นเองได้ (ยกเว้นวิตามินดี) ต้องได้รับจากการรับประทานอาหาร และหากร่างกายของเราเกิดภาวะพร่องหรือขาดสารอาหารรอง อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยล้า เป็นแผลง่ายหรือเลือดออกง่าย เจ็บตามข้อ มีอาการชาตามบริเวณมือหรือเท้า มีภาวะซีด ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ มวลกระดูกต่ำ การผลิตคอลลาเจนลดลง ผมแห้ง เล็บเปราะ และอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 
ไมโครนิวเทรียนท์ ที่มีความสำคัญ 19 ชนิด
วิตามิน เอ เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ซึ่งมีอยู่ในอาหารหลายชนิดตามธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญในการมองเห็น  ช่วยบำรุงสายตาและการมองในที่แสงสลัว ป้องกันการเจ็บป่วยและเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ 
วิตามินเอ พบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น นมและชีส ซีเรียล ไข่ ปลาแซลมอน ตับวัวและเครื่องในสัตว์อื่นๆ (ซึ่งมีคอเลสเตอรอลสูงเช่นกัน ดังนั้นควรจำกัดปริมาณการรับประทาน) ผักใบเขียวและผักสีเขียว ส้ม และเหลือง เช่น ผักโขม มันเทศ แครอท บรอกโคลี และฟักทอง ผลไม้ ได้แก่ แคนตาลูป มะม่วง และแอปริคอต

วิตามิน ซี - หรือที่เรียกว่ากรดแอสคอร์บิก วิตามินซีจำเป็นต่อการสร้างสารสื่อประสาทและคอลลาเจน ช่วยปกป้องเซลล์และทำให้เซลล์แข็งแรง รักษาสุขภาพผิวหนัง หลอดเลือด กระดูก และกระดูกอ่อน ช่วยในการรักษาบาดแผล
ผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไป ต้องการวิตามินซี 60-90 มก. ต่อวัน ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมวิตามินซีไว้ได้ ดังนั้นจึงต้องการวิตามินซีในอาหารทุกวัน การรับประทานวิตามินซีในปริมาณมาก (มากกว่า 1,000 มก. ต่อวัน) อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืดได้
วิตามินซีพบได้ในผักและผลไม้หลากหลายชนิด เช่น พริกแดง พริกหวาน บรอกโคลี ส้ม เกรปฟรุต กีวี มะเขือเทศ สตรอเบอร์รี่

วิตามิน อี  (Alpha -Tocopherol) -  ช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ การไหลเวียนโลหิต ภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ผิวสุขภาพดี และเสริมสร้างการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกายจากความเจ็บป่วยและการติดเชื้อ วิตามินอีเป็นกลุ่มของสารประกอบที่พบในอาหารหลากหลายประเภท ได้แก่ น้ำมันจากพืช เช่น ดอกทานตะวัน ถั่วเหลือง ข้าวโพด อัลมอนด์ น้ำมันดอกคำฝอย และน้ำมันมะกอก นอกจากนี้ยังพบวิตามินอีได้จาก ถั่ว จมูกข้าวสาลี ธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เนยถั่ว

แกมม่า โทโคเฟรอล - เป็นวิตามินอีที่พบได้ตามธรรมชาติ มีคุณสมบัติในการต่อต้านริ้วรอย ต้านอาการอักเสบที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจและโรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ และการเสื่อมลงตามอายุ พบมากในน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันข้าวโพด

เบตาแคโรทีน - เป็นสารประกอบที่ให้สีเหลือง สีส้ม และสีแดงแก่ผัก และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และอาจลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและมะเร็ง ร่างกายจะเปลี่ยนเบตาแคโรทีนเป็นวิตามินเอ (เรตินอล) ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญในการมองเห็น
เบตาแคโรทีนพบมากในผักและผลไม้ที่มีสีแดง ส้ม หรือเหลือง ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้าและผักโขม มันฝรั่งหวาน
แครอท บรอกโคลี แคนตาลูป พริกแดงและเหลือง แอปริคอต และยังพบได้ในสมุนไพรและเครื่องเทศ เช่น พริกป่น พริก ผักชี

อัลฟ่าแคโรทีน – เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอในร่างกายทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต่อสู้กับความเสียหายที่เกิดจากการออกซิเดชัน ลดอัตราการเสียชีวิตของมะเร็งบางชนิด (ปอด ต่อมลูกหมาก ตับ) และลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง การเสียชีวิตจากหลอดเลือดหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานและโรคระบบทางเดินหายใจ
อัลฟ่าแคโรทีน สามารถละลายในไขมัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบริโภคร่วมกับไขมันเพื่อให้ร่างกายดูดซึม
อาหารที่มีอัลฟาแคโรทีนสูง ได้แก่ ผักและผลไม้ ที่มีสีเหลือง สีส้ม สีแดง และสีเขียวเข้ม  เช่น ฟักทอง แครอท ส้มเขียวหวาน มะเขือเทศ กะหล่ำปลี มันเทศ อะโวคาโด กล้วย

โคเอ็นไซม์ คิวเทน (CoQ10) – เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ ระดับของ CoQ10 ในร่างกายจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ยังพบว่าระดับ CoQ10 ลดลงในผู้ที่มีภาวะบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท เช่น พาร์กินสันหรืออัลไซเมอร์ และในผู้ที่รับประทานยาลดคอเลสเตอรอล ผู้ที่ทานมังสวิรัติหรือทานเจอาจมีระดับ CoQ10 ต่ำเช่นกัน
โคเอ็นไซม์ คิวเทน (CoQ10)  พบในเนื้อสัตว์ ปลา และถั่ว

ไลโคปีน - เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในตระกูลแคโรทีนอยด์ พบในผลไม้สีแดงและชมพู เช่น มะเขือเทศ แตงโม และเกรปฟรุตสีชมพู มีประโยชน์ต่อหัวใจ ลดความเสี่ยงของโรคต่อมลูกหมาก ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากความสามารถในการลดระดับคอเลสเตอรอล ปกป้องผิวจากความชราและความเสียหายที่เกิดจากแสงแดด ปกป้องจอประสาทตา โดยช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น จอประสาทตาเสื่อมตามวัย เพิ่มการออกกำลังกายโดยช่วยต่อต้านผลกระทบที่เป็นอันตรายของอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นระหว่างการออกกำลังกายอย่างหนัก

โฟลิก – หรืออีกชื่อหนึ่งคือ วิตามินบี 9 มีความสำคัญต่อการแบ่งเซลล์อย่างเหมาะสม จำเป็นต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในไขกระดูก สร้าง DNA และ RNA และเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้เป็นพลังงาน มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก เพราะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดของสมองและกระดูกสันหลัง
ปริมาณโฟเลตที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ต่อวัน คือ 400 ไมโครกรัม (mcg) ผู้หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิก 400 ถึง 1,000 ไมโครกรัมต่อวัน
อาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิก ได้แก่ ผักโขม ผักคะน้า บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง อาโวคาโด ซีเรียล ข้าวขาว ไข่ ตับ

โครเมียม - เป็นแร่ธาตุที่จำเป็น มีสองรูปแบบคือ โครเมียมไตรวาเลนต์ซึ่งปลอดภัยสำหรับมนุษย์ และโครเมียมเฮกซะวาเลนต์ซึ่งเป็นสารพิษ ประโยชน์ของโครเมียมคือ ช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด  ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย และการทำงานของโปรตีน ป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกระดูก ช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ป้องกันภาวะอ่อนล้าเรื้อรัง
โครเมียมพบได้ในอาหาร เช่น เนื้อ ถั่ว เมล็ดธัญพืช

ทองแดง – เป็นแร่ธาตุที่จำเป็น ซึ่งพบได้ในอาหารบางชนิดและในอาหารเสริม ช่วยเอนไซม์ต่างๆ ที่ผลิตพลังงานให้กับร่างกาย สลายและดูดซึมธาตุเหล็ก และสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง คอลลาเจน เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และสารสื่อประสาทในสมอง และยังช่วยการพัฒนาของสมองและการทำงานของภูมิคุ้มกัน
สัญญาณของการขาดทองแดง เช่น โรคโลหิตจาง คอเลสเตอรอลสูง โรคกระดูกพรุน กระดูกหัก การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียเม็ดสีผิว
ทองแดง พบได้ใน อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ พืชตระกูลถั่ว ช็อกโกแลตหรือโกโก้ที่ไม่หวาน ธัญพืช ผักและผลไม้

เฟอร์ริติน - เป็นโปรตีนที่เก็บธาตุเหล็ก ร่างกายคนเราต้องการธาตุเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดและนำออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ธาตุเหล็กมีบทบาทสำคัญในผลิตเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบิน สังเคราะห์โปรตีน รักษาสุขภาพของเส้นผมและผิวหนัง ต่อสู้กับการติดเชื้อและรักษาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยในการสร้างพลังงาน
หากขาดเฟอร์ริตินจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งอาจมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดีหรือการเสียเลือด หรือร่างกายอาจมีปัญหาในการดูดซึมธาตุเหล็ก
เฟอร์ริติน หรือ ธาตุเหล็กสามารถพบได้ในเนื้อสัตว์ พืชตระกูลถั่ว ถั่ว เมล็ดธัญพืช และผักหลายชนิด

แมกนีเซียม – เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมและการทำงานของร่างกาย ตั้งแต่การผลิตพลังงานไปจนถึงการสร้างโปรตีนที่สำคัญ ช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาททำงานเป็นปกติ รักษาระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แมกนีเซียมพบมากใน พืชตระกูลถั่ว ถั่ว เมล็ดพืช และผักใบเขียว
แม้จะมีความสำคัญ แต่มีการศึกษาพบว่าเกือบ 50% ของคนในยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับแมกนีเซียมอย่างเพียงพอ การขาดแมกนีเซียมทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอาการผิดปกติและโรคต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้าและอ่อนแรง การขาดแมกนีเซียมอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการชา ปวดกล้ามเนื้อ ชัก หัวใจเต้นผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคกระดูกพรุน ไมเกรน อัลไซเมอร์

ซีลีเนียม - เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันและชะลอความชรา เป็นส่วนประกอบสำคัญของเอนไซม์และโปรตีนหลายชนิด ช่วยสร้าง DNA และป้องกันความเสียหายของเซลล์และการติดเชื้อ เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์และฮอร์โมนไทรอยด์
อาหารที่มีซีลีเนียม ได้แก่ อาหารทะเล เครื่องใน (ตับ ไต) ปลาทูน่า หัวหอมและกระเทียม ธัญพืชต่าง ๆ ถั่ว มะเขือเทศ บรอกโคลี ข้าวกล้อง เป็นต้น

สังกะสี – เป็นสารอาหารที่จำเป็นซึ่งพบได้ในอาหารจากพืชและสัตว์หลายชนิด ช่วยระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของระบบเผาผลาญ และยังมีความสำคัญต่อการรักษาบาดแผลและการรับรู้รสและกลิ่น ช่วยต้านทานโรคติดเชื้อ เช่น ท้องร่วง ปอดอักเสบ การแข็งตัวของเลือด การทำงานของต่อมไทรอยด์ สังกะสียังช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์ วัยเด็ก และวัยรุ่น
หากร่างกายได้รับสังกะสีไม่เพียงพอ อาจมีอาการผมร่วง ท้องเสีย เสื่อมสมรรถภาพ มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาและผิวหนัง และเบื่ออาหาร
แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี เช่น หอยนางรม น่องวัว ปูอลาสก้า

เหล็ก – ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบหลักของฮีโมโกลบิน มีความสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งพาออกซิเจนไปทั่วร่างกาย มีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและการรับรู้
เด็กและสตรีมีครรภ์มีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กมากกว่าคนทั่วไป การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุสำคัญของโรคโลหิตจาง จะทำให้อ่อนเพลียมากและหน้ามืดได้ ผู้หญิงที่เสียเลือดมากในช่วงที่มีประจำเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และอาจต้องรับประทานธาตุเหล็กเสริม
แหล่งของธาตุเหล็ก ได้แก่ ตับ เนื้อแดง ถั่วต่างๆ ผลไม้แห้ง ซีเรียล

แคลเซียม – มีหน้าที่สำคัญในการช่วยสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อรวมถึงการเต้นของหัวใจ
การขาดแคลเซียมอาจทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก และโรคกระดูกพรุนได้
เมื่ออายุมากขึ้น ระดับแคลเซียมจะลดลงตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงรับประทานแคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน แคลเซียมคาร์บอเนต (แคลไซต์) และแคลเซียมซิเตรต (Citracal) เป็นอาหารเสริมแคลเซียมสองรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ผู้ใหญ่อายุ 19 ถึง 64 ปี ต้องการแคลเซียม 700 มก. ต่อวัน การได้รับแคลเซียมในปริมาณสูง (มากกว่า 1,500 มก. ต่อวัน) อาจทำให้ปวดท้องและท้องเสียได้
อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ โยเกิร์ต น้ำส้ม ชีส นมและอาหารที่ทำจากนม ผักใบเขียว เช่น คะน้า กระเจี๊ยบเขียว
ปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งตัว
 
วิตามิน บี 12 – เป็นวิตามินสำคัญที่ช่วยร่างกายในการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยการทำงานของสมองและระบบประสาท เพิ่มพลังงาน ลดความอ่อนแรง เหนื่อยล้า ป้องกันการเสื่อมของตา ลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคซึมเศร้า
การขาดวิตามินบี 12 อาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ส่งผลต่อความจำ เกิดอาการเหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ เส้นประสาทเสียหาย และอารมณ์แปรปรวน ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติมีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี 12 เพิ่มขึ้น เนื่องจากอาหารจากพืชไม่มีวิตามินบี 12 ผู้สูงอายุและผู้ที่มีระบบทางเดินอาหารที่ส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารก็มีโอกาสขาดวิตามินบี 12 ได้เช่นกัน
แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 12 ได้แก่ ตับวัว ปลาแซลมอน นม และโยเกิร์ต ไข่

วิตามิน ดี  วิตามินดีมีสองรูปแบบหลัก คือ วิตามิน D2 มีอยู่ในพืชและยีสต์ และ วิตามิน D3 ที่มาจากสัตว์ วิตามินดีช่วยควบคุมปริมาณแคลเซียมและฟอสเฟตในร่างกาย ทำให้กระดูก ฟัน กล้ามเนื้อและระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ร่างกายคนเราสามารถผลิตวิตามินดีได้เมื่อโดนแสงแดด หรือในบางคนอาจจำเป็นต้องเพิ่มวิตามินดีโดยการบริโภคอาหารหรือวิตามินเสริม แต่การรับประทานวิตามินดีเสริมมากเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้แคลเซียมสะสมในร่างกายมากเกินไป (ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง) ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของไตและหัวใจได้
 
รู้ได้อย่างไรว่าได้รับสารอาหารเพียงพอหรือไม่?
การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า ประชากรสหรัฐฯ ถึง 92% มีอาการขาดธาตุอาหารบางรูปแบบ
  • ชาวอเมริกัน 9 ใน 10 คนขาดโพแทสเซียม
  • 7 ใน 10 ขาดแคลเซียม
  • 8 ใน 10 คนขาดวิตามินอี
  • 50 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันขาดวิตามินเอ วิตามินซี และแมกนีเซียม
  • กว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั่วไปขาดวิตามินดี ในทุกช่วงอายุ
  • ประมาณร้อยละ 70 ของผู้สูงอายุชาวอเมริกันขาดวิตามินดี
ไมโครนิวเทรียนท์ หรือ สารอาหารรอง สามารถพบได้ในอาหารที่รับประทานทุกวัน เช่น ผักและผลไม้ หากสามารถรับประทานอาหารให้ครบ หลากหลาย แต่หากไม่แน่ใจหรือพบอาการผิดปกติของร่างกาย ที่อาจบ่งบอกถึงภาวะขาดสารอาหาร เช่น เหนื่อยล้า เป็นแผลง่าย หรือเลือดออกง่าย เจ็บตามข้อ มีอาการชาตามบริเวณมือหรือเท้า ภาวะซีด ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ มวลกระดูกต่ำ การผลิตคอลลาเจนลดลง ผมแห้ง เล็บเปราะ แตกหักง่าย ควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและทำการตรวจหาสมดุลของสารอาหารรอง ซึ่งเป็นการตรวจหาระดับวิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเพื่อประเมินภาวะทางโภชนาการและพฤติกรรมการรับประทานอาหารของแต่ละบุคคล ตรวจได้ในคนที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป ที่สนใจดูแลสุขภาพเพื่อเลือกรับประทานอาหารที่มีระดับสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อนำมาสู่การวางแผนดูแลสุขภาพ ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การเลือกรับประทานอาหาร หรือการฟื้นฟูอื่น ๆ ที่เหมาะสมเฉพาะแต่ละบุคคล

สนใจการตรวจสมดุลของสารอาหารรอง (วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ) คลิก
 
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์
 
Ref.
https://www.cdc.gov/nutrition/micronutrient-malnutrition/micronutrients/index.html
https://health.clevelandclinic.org/macronutrients-vs-micronutrients
https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/micronutrients-have-major-impact-on-health
https://hitmymacros.com/what-are-micronutrients




Facebook
Twitter
Link
Line
My default image

Feel Younger . Look Better . Live Longer

Book an appointment

ไม่พลาดข้อมูลข่าวสาร!