ต้องการความช่วยเหลือ ค้นหาได้เลย

ปรับไลฟ์สไตล์ เพื่อให้ “น้องชาย” สุขภาพดี
ปรับไลฟ์สไตล์ เพื่อให้ “น้องชาย” สุขภาพดี
  • การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย เพราะมีส่วนสำคัญในการทำลายหลอดเลือด ทำให้การส่งเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำได้ยากขึ้น การไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศทำได้ไม่ดี
  • กระชายดำ มีสารในกลุ่มไฟโตแอนโดรเจน กระตุ้นให้เกิดความกระฉับกระเฉง หากฮอร์โมนเพศลดลงไม่มากการเพิ่มสารประเภทนี้เข้าไปจะสามารถช่วยได้ แต่ถ้าฮอร์โมนเพศตกลงอย่างมาก อวัยวะเพศเสื่อมสภาพ การใช้สารเหล่านี้มักไม่ได้ผล แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง
  • การตรวจระดับฮอร์โมนทั้งระบบในร่างกาย เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มี “น้องชายเสื่อมสมรรถภาพ” เนื่องจากฮอร์โมนทุกชนิดนั้นทำงานร่วมกัน และฮอร์โมนเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
 
โดยปกติผู้ชายส่วนใหญ่มักจะปากแข็ง เมื่อมีความผิดปกติ หรือเจ็บป่วย ก็มักไม่แสดงอาการ ยิ่งเป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ “น้องชายไม่สู้” “นกเขาไม่ขัน” “หลั่งเร็ว” “หลั่งช้า” ยิ่งไม่อยากบอกใคร และส่วนมากมักไม่ยอมมาพบแพทย์ ปล่อยไว้ไม่แก้ไข ก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวและชีวิตคู่ตามมาได้
ดังนั้นถ้าไม่อยากประสบปัญหาเกี่ยวกับ “น้องชาย” การทำความเข้าใจ ระมัดระวังและป้องกันตัวเองโดยหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ที่จะสร้างปัญหาเกี่ยวกับความแข็งแรงหรือสมรรถภาพของน้องชาย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

ปรับไลฟ์สไตล์ ป้องกันน้องชายเสื่อม
แม้ว่าปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายนั้นจะป้องกันไม่ได้ แต่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดูแลสุขภาพให้ดี จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม และไม่ใช้ชีวิตที่ทำให้ร่างกายเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เข้าใจถึงสาเหตุของความผิดปกติ และรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการปรับไลฟ์สไตล์จะช่วยลดปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ ซึ่งมีวิธีการดังนี้
 
  • รักษาโรคที่มีผลต่อสุขภาพ
การรักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ รวมถึงการพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ
เหตุที่ต้องรักษาโรคเบาหวานและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้น เพราะหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องสามารถทำลายหลอดเลือด เส้นประสาทและเนื้อเยื่อแข็งตัวของอวัยวะเพศ ส่งผลให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ ขณะเดียวกัน ความดันโลหิตสูงก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวได้เช่นกัน เนื่องจากอาจรบกวนการไหลเวียนของเลือดที่ไปยังอวัยวะเพศชาย
 
  • เลิกสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่มีส่วนสำคัญในการทำลายหลอดเลือด ทำให้การส่งเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำได้ยากขึ้น ซึ่งรวมถึงอวัยวะเพศชายด้วย เมื่อเลือดไปเลี้ยงได้ไม่ดี ก็ทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ นอกจากนี้พบว่า การสูบบุหรี่อาจลดปริมาณไนตริกออกไซด์ในร่างกาย ซึ่งจำเป็นต่อการคลายกล้ามเนื้อและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด มีงานวิจัยระบุว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของปัญหาหย่อนสมรรถภาพ หรือนกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction)
การเลิกบุหรี่ โดยเฉพาะในผู้ชายอายุต่ำกว่า 50 ปี อาจช่วยแก้ไขปัญหาหย่อนสมรรถภาพได้ และยังเป็นประโยชน์กับสุขภาพโดยรวมอีกด้วย
 
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
งานวิจัยบางงานระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะจะมีประโยชน์ในการผ่อนคลาย ช่วยลดปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ แต่ในทางกลับกัน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปกลับมีผลตรงกันข้าม คือจะทำให้การแข็งตัวของอวัยวะเพศแย่ลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และยังทำลายเซลล์กล้ามเนื้อในอวัยวะเพศซึ่งจะเป็นทำให้หลั่งเร็ว ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะสูญเสียน้ำ ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานผิดปกติ ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะเพศแย่ลง ไม่แข็งตัว นำไปสู่ปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นประจำจะเพิ่มความสามารถของหัวใจในการไหลเวียนเลือด ซึ่งจำเป็นสำหรับการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ช่วยเพิ่มการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนตามธรรมชาติ ซึ่งให้ประโยชน์ทั้งความแข็งแรง การแข็งตัวของอวัยวะเพศและอารมณ์ทางเพศ โดยควรออกกำลังกายทั้งแบบคาร์ดิโอ เช่น การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และการฝึกความแข็งแรง เช่น การยกน้ำหนัก เวทเทรนนิ่ง
การออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับปานกลางถึงหนัก เป็นเวลา 40 นาที ต่อวัน 4 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ติดต่อกันนาน 6 เดือน จะช่วยลดปัญหาหย่อนสมรรถภาพ (Erectile Dysfunction)
นอกจากนี้การเสริมสร้างกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยการออกกำลังกายแบบ Kegel ไม่ได้มีผลดีสำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีในผู้ชายด้วยเช่นกัน เพราะการออกกำลังกายแบบ Kegel จะช่วยให้เชิงกรานทำหน้าที่ปิดเส้นเลือดที่ระบายเลือดจากอวัยวะเพศชายระหว่างการแข็งตัว เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านั้นอ่อนแอจะมีผลต่อการแข็งตัวและความทนทานของอวัยวะเพศชาย
 
  • จัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ
วิธีหนึ่งที่ร่างกายตอบสนองต่อความเครียดคือการทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และยังมีผลต่อประสิทธิภาพของยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย
  • ความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลต่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ร่างกายอ่อนเพลีย สมองล้า สมองเบลอ และกระทบต่อคุณภาพในการนอนหลับได้อีกด้วย ซึ่งหากมีปัญหาเรื่องการนอนก็จะทำให้ระบบฮอร์โมนไม่สมดุล ฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือ ฮอร์โมนเครียด จะสะสมในร่างกายมากขึ้น ส่งผลเสียต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตและเกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้
วิธีจัดการกับความเครียดอาจทำได้โดย การออกกำลังกาย การทำสมาธิ ทำงานอดิเรกที่ชอบ พูดคุยกับเพื่อน หรือปรึกษากับจิตแพทย์ ในกรณีที่จำเป็น
 
  • เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
การรับประทานอาหารที่สมดุลอาจช่วยรักษาสมรรถภาพทางเพศและลดความเสี่ยงต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีวิจัยของ NIH Massachusetts Male Aging Study และงานวิจัยอื่น ๆ ระบุว่าอาหารประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วและปลา ช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาหย่อนสมรรถภาพได้ ทั้งนี้ควรทำควบคู่ไปกับการบริโภคเนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูปให้น้อยลง
อาหารบำรุง “น้องชาย”
  • ผักโขม อุดมไปด้วยโฟเลต ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด กรดโฟลิกมีบทบาทสำคัญในการทำงานของเพศชาย ระดับกรดโฟลิกในเลือดต่ำจะเชื่อมโยงกับภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนี้ ผักโขมยังมีแมกนีเซียม ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและอาจช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้ด้วย
  • อะโวคาโด อุดมไปด้วยวิตามินอีและสังกะสี ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีบทบาทในการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
  • ข้าวโอ๊ต มีผลดีต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ช่วยในการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศชาย มีกรดอะมิโน L-arginine ซึ่งอาจช่วยรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศและเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายได้
  • แตงโม มีซิทรูลีน (Citrulline) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของกรดไนตริกชนิดหนึ่ง ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเข้าสู่อวัยวะเพศได้ง่ายขึ้น
  • ดาร์กช็อกโกแลต เต็มไปด้วยฟลาโวนอยด์ ซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้ง่ายขึ้น แต่ดาร์กช็อกโกแลตมักมีน้ำตาลและไขมันสูง การรับประทานมากเกินไปอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
  • ปลาแซลมอน เป็นหนึ่งในอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ที่ช่วยป้องกันความผิดปกติของผนังหลอดเลือด
  • อัลมอนด์ วอลนัท และถั่วอื่นๆ อุดมไปด้วยไลโพโปรตีนหนาแน่นสูง (HDL) หรือ คอเลสเตอรอลที่ดี เป็นตัวดูดซับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ที่เป็นตัวขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงอวัยวะเพศด้วย
  • ถั่วพิสตาชิโอ เต็มไปด้วยอาร์จินีน (Arginine) ที่ช่วยกระตุ้นการผลิตไนตริกออกไซด์ ที่ช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • ส้มและบลูเบอร์รี่ มีฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัวหลังถูกกระตุ้น การศึกษาของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดพบว่า อาหารที่อุดมด้วยฟลาโวนอยด์ช่วยลดโอกาสของการหย่อนสมรรถภาพทางเพศลงได้ถึง 9-11%
  • กระชายดำ ซึ่งจะมีสารในกลุ่มไฟโตแอนโดรเจน กระตุ้นให้เกิดความกระฉับกระเฉง กระชุ่มกระชวย เพราะเมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนเพศจะลดลง หากลดลงไม่มากการเพิ่มสารประเภทนี้เข้าไปก็จะสามารถช่วยได้ แต่ถ้าฮอร์โมนเพศตกลงอย่างมาก อวัยวะเพศเสื่อมสภาพ การใช้สารเหล่านี้มักไม่ได้ผล แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้องจะเป็นการดีที่สุด
 
  • คุมน้ำหนัก / ลดน้ำหนัก
ผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีอาการอักเสบของร่างกายมากขึ้น การลดน้ำหนักนอกจากช่วยลดการอักเสบ แล้วยังทำให้ร่างกายดูดี เป็นการกระตุ้นทางจิตวิทยาให้แก่คู่นอน ทำให้ความสุขทางเพศเพิ่มขึ้นได้ การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่สมดุลเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดน้ำหนักและทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้นได้
 
  • นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับๆ ตื่นๆ นอกจากจะส่งผลอย่างมากต่อสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้เกิดอาการมึนงง เหนื่อยล้า ภูมิคุ้มกันต่ำได้อีกด้วย มีการวิจัยระบุว่า ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพมากขึ้น เนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง ดังนั้นจำเป็นต้องหาเวลาพักผ่อนให้ได้อย่างน้อยวันละ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน คนที่นอนดึกเป็นประจำจะต้องพยายามปรับเวลาในการนอนให้เร็วขึ้น คือควรเข้านอนประมาณ 22.00 น. เพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
โปรแกรมการตรวจสุขภาพการนอนหลับ คลิก
 
หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศขึ้น คุณผู้ชายทั้งหลายต้องไม่อายที่จะไปพบแพทย์ เพราะการไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดปัญหา โดยเฉพาะการตรวจระดับฮอร์โมนทั้งระบบในร่างกาย ทั้งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนอินซูลิน รวมถึงฮอร์โมนเพศ เป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากฮอร์โมนทุกชนิดนั้นทำงานร่วมกัน และฮอร์โมนเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
สนใจตรวจฮอร์โมนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คลิก
 
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์
 

Ref.

https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2019/sexual-well-being

https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/erectile-dysfunction/symptoms-causes/syc-20355776

https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9122-sexual-dysfunction-in-males

https://www.urologyhealth.org/urology-a-z/e/erectile-dysfunction-(ed)

https://uihc.org/health-topics/six-lifestyle-changes-man-can-make-improve-sexual-function

https://kasraeianurology.com/blog/lifestyle-changes-that-can-help-with-erectile-dysfunction

https://www.healthline.com/health/erectile-dysfunction/ed-natural-treatments#smoking-cessation

https://www.healthline.com/health/mens-health/foods-for-penis#6.-Carrots

https://proactivemensmedical.com/blog/foods-that-help-you-stay-erect


 

Facebook
Twitter
Link
Line
My default image

Feel Younger . Look Better . Live Longer

Book an appointment

ไม่พลาดข้อมูลข่าวสาร!